บทความ
Articles

พระไตรปิฎก

ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือ ตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลี ว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์ หรือ ตำราทางพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับไตรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ล ของศาสนาคริสต์ อัลกุรอาน ของศาสนาอิสลาม พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลาย ต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน พระสงฆ์สาวกซึ่งท่องจำไว้ได้ ได้จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่เป็นปิฎกต่างๆ หลังจากพระศาสดานิพพานแล้วเพื่อเป็นหลักพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ออกเป็นหมวดหมู่ และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว พระไตรปิฎก เป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่ชาวพุทธใช้อ้างอิง เพราะมาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ผ่านการทบทวนความถูกต้องครบถ้วนโดยการสังคายนา ครั้งแรกที่มีปฐมสังคายนา มี พระมหากัสสปะ เป็นประธานร่วมด้วยพระอานนท์ พระอุปาลี และพระอรหันต์ รวม ๕๐๐ องค์ หลังพระพุทธเจ้าเสด็จพระปรินิพพาน พระไตรปิฎก มีความหมายว่า 3 คัมภีร์ ซึ่งคำว่า พระ เป็นคำที่ยกย่องหรือแสดงความเคารพ ส่วนคำว่า ไตรี แปลตรงตัวว่า สาม และคำว่า ปิฎก แปลว่า ตำรา, คัมภีร์, กระจาด หรือตะกร้า โดยรวมๆ ก็หมายถึง เป็นการรวมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้าเอาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อไม่ให้กระจัดกระจาย เหมือนการนำตะกร้าหรือกระจาดมารองไว้เป็นภาชนะนั่นเอง โครงสร้างพระไตรปิฎก มี 3 หมวด ได้แก่ ๑. พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีล หรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่ พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา ปา มะ จุ ปะ (หัวใจพระวินัย) ได้แก่ (๑) คัมภีร์อาทิกรรม ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้นบัญญัติในสิกขาบท ต่าง ๆ (๒) คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา (๓) คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย (๔) คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมา ของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา (๕) คัมภีร์ปริวารวรรค ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย ๒. พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่าง ๆ ตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที มะ สังอัง ขุ (หัวใจพระสูตร) ได้แก่ (๑) ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร (๒) มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร (๓) สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่าสังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่นเกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับ มรรค เรียกว่า มรรคสังยุตต์มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร (๔) อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกกนิบาต ว่าด้วยหลักธรรมที่มีหัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อ เรียกว่าเอกกทสกนิบาต ในนิกายนี้ มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร (๕) ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่าง ๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๕ ข้างต้น แบ่งออก เป็นหมวดได้ ๑๕ หมวด คือ ๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ ๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา ๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่องประกอบ ตามสมควร ๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น อย่างนี้ ๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน ๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้วิมานไว้ด้วย ๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้ ๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวก ๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวิกา ๑๐) ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิต เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง การแสดง การจำแนก) แบ่งเป็น มหานิทเทส และ จุลนิทเทส ๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ ๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา ๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ๓. พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม (มี ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน) (สภาวธรรม) ล้วน ๆ ยกตัวอย่าง เช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ส่วนที่เรียกชื่อว่า นาย ก นาย ข นั้นเรียกโดยสมมุติโวหารเท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้ จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย พระอภิธรรมปิฎก มีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง วิ ธาปุ กะ ยะ ปะ (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่ ๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มี ๔ กัณฑ์ คือ (๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิกเป็นต้น (๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูปเป็นต้น (๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงธรรมที่เป็นแม่บท (มาติกา) ของปรมัตถธรรม (๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของปรมัตถธรรม ๒. คัมภีร์วิภังค์ แสดงการจำแนกปรมัตถธรรมออกเป็นข้อ ๆ แบ่งออกเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น จำแนกขันธ์ (หมายถึง ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ ก็คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก ส่วนวิญญาณขันธ์ ก็คือ จิต ดังนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง) เรียกว่า ขันธวิภังค์ ๓. ธาตุกถา แสดงการจัดหมวดหมู่ของปรมัตถธรรม โดยสงเคราะห์ด้วย ธาตุ (ธรรมชาติที่ ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน) ๔. คัมภีร์ปุคคล บัญญัติว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการ และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอัน เกี่ยวกับบุคคล ๕. คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบ ประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ อันถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรมวินัย ๖. คัมภีร์ยมก คัมภีร์นี้จะยกหัวข้อปรมัตถธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ ๗. คัมภีร์มหาปัฏฐาน แสดงเหตุปัจจัย และแสดงความสัมพันธ์ อันเป็นเหตุ เป็นผล ที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันแห่งปรมัตถธรรมทั้งปวงโดยพิสดาร พระอภิธรรม ก็คือ ธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎก ที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มี อยู่ในตัวเรา และสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก ๑. เป็นที่รวมไว้ ซึ่งพระพุทธพจน์ อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง ซึ่งตก ทอดมาถึงสมัยพวกเรา ทำให้เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ ๓. เป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่ อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็น ไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือเป็นแหล่งต้นเดิม ๔. เป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดง หรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา จะเป็นที่ น่าเชื่อถือ หรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงชั้นสุดท้ายสูงสุด ๕. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำ สอนในพระพุทธศาสนาได้ ต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก ๖. เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อ ปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใดๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาดเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาใน พระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธถือว่าเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา กล่าวคือถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกแม้จะมีการปฏิบัติก็จะไม่เป็น ไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่ คือจะเสื่อมสูญไป

อัพเดท

13 ก.ย. 2565 16:27