บทความ
Articles

ความเชื่อเรื่องการถวายสังฆทาน

ความหมายของการทำบุญในพระพุทธศาสนา หมายถึง การทำสิ่งที่เป็นบุญ “บุญ” หรือ “ปุญญะ” แปลว่า ชำระ หมายถึง การทำให้หมดจดปราศจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง ได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) ความหลง (โมหะ) การสร้างบุญโดยกว้างๆ มี ๓ วิธี คือ ๑) การให้ทาน เช่น การตักบาตร เลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน ๒) การรักษาศีลห้า หรือ ศีลแปด ๓) การเจริญภาวนา ชาวพุทธ สามารถสร้าง “บุญ” ได้ ๑๐ ทาง เรียกว่า “บุญกริยาวัตถุ ๑๐” ได้แก่ ๑) ทานมัย การให้ทาน ๒) สีลมัย การรักษาศีล ๓) ภาวนามัย การเจริญภาวนา ๔) อปจายนมัย การอ่อนน้อมถ่อมตน ๕) ไวยาวัจจมัย การให้ความช่วยเหลือแก่สังคม ทำกิจกรรมที่ดี ๖) ปัตติทานมัย การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา ๗) ปัตตานุโมทนามัย การยอมรับหรือยินดีในการทำความดี หรือ ทำบุญของผู้อื่น ๘) ธรรมสวนมัย การฟังธรรม ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญาและการดำเนินชีวิต ๙) ธรรมเทศนามัย การให้ธรรมะหรือข้อคิดดีๆ แก่ผู้อื่น โดยการบอกต่อ หรือแนะนำให้เขา รู้จักวิธีดำเนินชีวิตที่ดี ๑๐) ทิฏฐุชุกรรม คือการไม่ถือทิฐิ เอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ซึ่ง ข้อ ๑๐ นี้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะทำบุญใดๆทั้ง ๙ ข้อข้างต้น หากมิได้ตั้งอยู่ใน ทำนองครองธรรม “บุญ” นั้นก็ไม่บริสุทธิ์ จะให้ผลได้ไม่เต็มที่ การทำบุญจะได้ผลบุญมากหรือน้อย มีหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ ๑) ผู้รับ ต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี ๒) วัตถุสิ่งของ ที่ให้ต้องได้มาโดยสุจริต มีประโยชน์ต่อผู้รับ ๓) ผู้ให้ ต้องมีศีลธรรม มีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ หากผู้ให้มีความตั้งใจดี ตั้งใจทำ ทำแล้วเบิกบานใจผ่องใสก็จะเกิดบุญมาก จะเห็นได้ว่า การทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนี้ มีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่ต้องใช้เงินจัดหา อีก ๙ วิธีใช้ แต่พฤติกรรมและจิตใจของเราโดยไม่ต้องใช้ทรัพย์ ทั้ง ๙ วิธีนี้สามารถทำบุญได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด การทำบุญในข้อที่ ๑ ที่ต้องใช้ทรัพย์ คือ การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่เชื่อกันว่า เป็นการทำทานที่ได้บุญมาก เพราะสังฆทานเป็นการถวายทานที่ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด เป็นการถวายทานแก่ส่วนรวม( คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระศาสนามากกว่า เพราะเป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวง โดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง สังฆทาน มีมาแต่ครั้งพุทธกาล พระนางปชาบดีโคตรมี ต้องการถวายผ้าจีวรแก่พระพุทธเจ้า แต่พระองค์ทรงแนะนำให้พระนางถวายแก่สงฆ์ โดยทรงอรรถาธิบายว่า เมื่อถวายแก่สงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าถวายพระองค์เป็นการเฉพาะ การถวายสังฆทานจึงบังเกิดขึ้นเป็นมหาทานที่ทำแล้วจะเกิดบุญมาก สาระสำคัญแก่นของ สังฆทาน คือ ๑ เป็นการฝึกให้ชาวพุทธตระหนักถึงความสำคัญของหมู่สงฆ์ ว่าสงฆ์ส่วนใหญ่คือผู้ที่ ช่วยทำให้สัจจธรรม หรือ พระพุทธศาสนาแพร่หลายมั่นคงอยู่ตลอดไป ๒ เพื่อให้ชาวพุทธ ไม่นำพระพุทธศาสนาไปผูกติดไว้กับบุคคล เพราะบุคคลนั้นไม่ แน่นอน ถ้าบุคคลนั้นมีอันเป็นไป ก็จะทำให้ชาวพุทธนั้นเหินห่างจากพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ทำสังฆทาน เพื่อสร้างรากฐานทางจิตใจให้กว้างขวาง ไม่ยึด ติดถือมั่นกับใคร หรือกับสิ่งใด ให้มองไปถึงสังคมสงฆ์ส่วนรวมเป็นสำคัญ บุญ ที่เชื่อกันว่ามีมากมายมหาศาลอันเกิดจากการถวายสังฆทานนั้น จะเกิดขึ้นก็เพราะผู้ถวายกำลังทำหน้าที่พุทธศาสนชิกชนที่ดี ด้วยการช่วยอุปถัมภ์บำรุงสงฆ์ ทางด้านปัจจัย ๔ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดสนทางด้านวัตถุ พระสงฆ์จะได้อุทิศตนศึกษาพระธรรม ปฏิบัติธรรม และ นำพระธรรมนั้นออกมาเผยแผ่ ชี้ทิศนำทางให้กับสังคม เกิดความสงบร่มเย็นและเป็นสุข ด้วยอานุภาพของธรรมะจากสงฆ์ทั้งปวง การจัดของถวายสังฆทานควรเลือกถวายสิ่งของที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ ๑๐ อันดับแรก ได้แก่ ๑. เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน ๒. มีดโกน ๓. ผ้าไตรจีวร ๔. หนังสือธรรมะ สารคดี นิตยสาร หรือหนังสือให้ความรู้อื่นๆ ๕. รองเท้า ๖. ยารักษาโรค ๗. ผ้าขนหนู ๘. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ๙. ผลิตภัณฑ์และชุดอุปกรณ์ทำความสะอาด ๑๐. แชมพูสระผม ขั้นตอนการถวายสังฆทาน ๑. แจ้งแก่ทางวัดให้จัด พระสงฆ์ ไป รับสังฆทาน ตามจำนวนที่ต้องการถวาย หัวหน้าสงฆ์ หรือ เจ้าอาวาส ของวัดนั้น ก็จะจัดภิกษุรูปใดหรือหลายรูปไปรับก็ได้ ขอให้ผู้ที่จะถวายพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของ สงฆ์ หรือเป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่ควรเพ่งเล็งว่าเป็นพระรูปใดรูปหนึ่ง อาจจะเป็นพระรูปที่เราไม่รู้จัก หรือไม่ชอบก็ได้ ปัจจุบัน วัดต่างๆ จะจัดสถานที่ถวายสังฆทานไว้ให้ชาวพุทธได้ทำบุญอย่างสะดวกสบาย ๒. จุดธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม (ด้านซ้ายและขวาของ พระพุทธรูป หรือด้านขวาและซ้ายมือของเรา) กล่าวภาษาบาลี แล้วกราบพระก่อนว่า “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ) สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ” (กราบ) แล้วอาราธนาศีล ว่า “ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ” เสร็จแล้ว พระจะให้ศีล เราพนมมือกล่าวรับศีลจากพระ ๓. รับศีลจบแล้ว ตั้งนะโม...เพื่อเป็นการเคารพนบนอบต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” ๓ จบ ๔. กล่าวคำถวายเครื่องไทยธรรม ถ้าจำไม่ได้หรือว่าไม่ได้ พระจะบอกให้ ว่าตามที่พระบอกให้ก็ได้ ทางที่ดีควรจะกล่าวคำถวายเอง โดยกล่าวดังนี้ “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ” คำแปล “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ” ๕. พระจะกล่าวพร้อมกันว่า “สาธุ” แล้วเราเข้าไปประเคนเครื่องไทยธรรม ซึ่งจะนำมาวางอยู่ต่อหน้าพระสงฆ์ก่อนแล้ว เวลาประเคนถ้าประเคน 2 คน ก็จับเครื่องไทยธรรมนั้น ๆ ทั้ง 2 คน ยกให้สูงจากพื้นที่วางของ แล้วประเคนให้พระสงฆ์รับ ๖. พระสงฆ์จะอนุโมทนา ตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำบุญเพื่ออุทิศให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องมีสมาธิมีเจตนาแน่วแน่ในการทำบุญอุทิศ ซึ่งจะทำให้ได้อานิสงส์แรง พระจะสวดเป็นภาษาบาลีว่า “ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา” ๗. พอพระเริ่มกล่าวคำว่า ยะถา วะริวะหา... เราก็เริ่มกรวดน้ำทันที (ให้รินน้ำลงในที่รองรับช้า ๆ เป็นสายน้ำอย่าให้ขาดสายจะดี) พร้อมกับกล่าวคำอุทิศส่วนบุญที่เราได้ทำในครั้งนี้ไปให้กับ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ทุกข์ก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุข ก็ให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้น หรือกล่าวคำกรวดน้ำเป็นภาษาบาลีอย่างย่อก็ได้ว่า “อิทังเม ญาติณังโหตุ สุขิตาโหตุ ญาตะโญ” แปลว่า “ขอให้บุญนี้จงสำเร็จแก่บิดามารดา และญาติพี่น้องของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอให้มีความสุขกายสุขใจ” ถ้าว่าไม่ได้หรือจำไม่ได้ ก็ให้กล่าวเป็นภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ แต่ต้องตั้งจิตอธิษฐานด้วยใจ อย่ากล่าวแต่ปากโดยใจมิได้จดจ่อกับสิ่งที่กล่าว เมื่อพระสวดคำว่า “จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา” ก็ให้รินน้ำลงให้หมด ขณะนี้พระยังสวดต่ออีก เป็นการสวดให้พรแก่ตัวเราแล้ว ไม่ใช่การอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่น/สัตว์อื่น เราก็นั่งพนมมือทำจิตใจให้อิ่มเอิบเบิกบานรับพรจากพระ เมื่อพระสวดจบก็เป็นอันเสร็จพิธีถวายสังฆทาน อย่างสมบูรณ์ การถวายสังฆทานนั้น สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ที่บ้านก็สามารถทำได้ นอกจากการถวายสังฆทานด้วยสิ่งของแล้ว การถวายปัจจัยให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ ก็ถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากโรงพยาบาลสงฆ์ ให้บริการด้านสุขภาพสงฆ์แบบองค์รวม โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาล ท่านสะดวกที่จะทำนุบำรุงศาสนาโดยทางใดก็เลือกปฏิบัติได้ตามต้องการ

อัพเดท

13 ก.ย. 2565 16:50