วันมาฆบูชา มาฆบูชา คือ การบูชาในเดือน 3 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล คือ เกิดการประชุมอันประกอบด้วยองค์ 4 ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ประกอบด้วย 1) เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ แห่งเดือนมาฆะ (เดือน 3) 2) เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย 3) พระสงฆ์ที่มาประชุมในวันนั้นล้วนได้รับ เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง 4) พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ในวาระสำคัญนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ วางหลักสำคัญแห่งคำสอนของพระองค์ไว้ 3 ประการ คือ 1. พึงละเว้นชั่วทั้งปวง 2. พึงกระทำความดี และ 3. พึงจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ในวันสำคัญนี้ พุทธศาสนิกชนควรทำบุญตักบาตร ไปวัด รับศีล ฟังธรรม และร่วมพิธีเวียนเทียนตลอดจนปฏิบัติสมาธิบำเพ็ญภาวนา และประเพณี วันมาฆบูชาในประเทศไทยเริ่มพื้นฟูนำมาปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394) วันวิสาขบูชา วิสาขบูชา คือ การบูชาในเดือนวิสาขะ คือ เดือน 6 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพานของพระพุทธเจ้าซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้ คือ 1) การประสูติของพระพุทธเจ้า เปรียบเสมือนการเกิดของมหาบุรุษที่เลิศกว่าบุคคลใด เพราะ ทรงอุบัติเพื่ออนุเคราะห์และเกื้อกูลประโยชน์ 2) การตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง และทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันทำให้พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งทั้งปวงในโลก และนำมาสั่งสอนเผยแผ่ต่อไป 3) การปรินิพาน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของโลกเปรียบเสมือนการ ดับดวงจักษุของโลกในวันดังกล่าวนี้องค์การสหประชาชาติได้มีมติกำหนดให้เป็นวันสำคัญสากล เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระพุทธเจ้ามีต่อมวลมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงควรประกอบพิธีบูชาโดยการทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม และเวียนเทียน เพื่อตั้งจิตมั่นชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ วันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม" วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลก พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์” ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาโดยสรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นใน วันอาสาฬหบูชาได้ ดังนี้ 1. เป็นวันแรกที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ 2. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศสัจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ 3. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น 4. เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็นโดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20.00 น. หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้ หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ และอาจจะเรียกได้ว่าหลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้ สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค กล่าวคือทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค) การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมาในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกายคือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่ง เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ของพระพุทธองค์ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในปฐมเทศนาต่อมาคือ มัชฌิมาปฏิปทา คือ หลังจากทรงกล่าวปฏิเสธแนวทางพ้นทุกข์แบบเดิม ๆ แล้ว ได้ทรงแสดงเสนอแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง อันได้แก่การดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1" คือปฏิบัติทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. วันอาสาฬหบูชาได้รับการกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. 2501 เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม 1ค่ำเดือน 8 ของทุกปี การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุอธิษฐานว่าจะอยู่ประจำ ณ วัดหนึ่งตลอดเวลา 3 เดือน การที่พระภิกษุต้องปฏิบัติเช่นนี้ เนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุมิได้อยู่สัญจรแม้ในฤดูฝน จึงทรงวางระเบียบให้ พระภิกษุเข้าอยู่ประจำที่ตลอดเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ในวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะนำเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียนเครื่องอุปโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน มาถวายพระภิกษุ มีการหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อไว้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ วันออกพรรษา วันออกพรรษา เป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในวันนี้พระภิกษุจะทำพิธีปวารณา การปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนเนื่องวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน วันแรมขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 มีการตักบาตรเทโวโรหนะ สืบเนื่องจากที่มีความเชื่อกันว่า เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจาก เทวโลก
อัพเดท
13 ก.ย. 2565 16:44